เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลาย
ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบทูล
อย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของ
ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’
‘จริง พระเจ้าข้า’
‘เพราะเหตุไร’
‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’
ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงทรงพระดำริอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราจักให้ทรัพย์แก่คนที่ถือเอา
สิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย อทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
ไม่ได้ให้)นี้ จักแพร่หลายขึ้นด้วยประการอย่างนี้ ทางที่ดี เราควรให้คุมตัวบุรุษผู้นี้
อย่างแข็งขัน แล้วตัดต้นคอ ตัดศีรษะของบุรุษนั้นเสีย’ จากนั้น ท้าวเธอทรงสั่งบังคับ
ราชบุรุษทั้งหลายว่า ‘แน่ะพนาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใช้เชือกเหนียว ๆ มัดบุรุษนี้
ไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอก พร้อมกับ
แกว่งบัณเฑาะว์1เสียงดังน่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ จงคุมตัวอย่างแข็งขัน
ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะบุรุษนั้นเสียทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร’ ราชบุรุษทั้งหลาย
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนั้นเอาแขนไพล่หลังอย่างแน่น
หนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอกพร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดัง
น่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ คุมตัวอย่างแข็งขัน ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะ
บุรุษนั้นทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร
[93] ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทราบว่า
พระเจ้าแผ่นดินได้คุมตัวคนผู้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยอย่างแข็งขัน
ตัดต้นคอ ตัดศีรษะพวกเขาเสีย’ ครั้นได้ฟังแล้วจึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี

เชิงอรรถ :
1 บัณเฑาะว์ ในที่นี้หมายถึงกลองที่ใช้ตีให้สัญญาณเมื่อจะประหารนักโทษ (ที.ปา.อ. 92/37)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :69 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [3. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

แม้พวกเราก็ควรให้ช่างทำศัสตราอย่างคม ๆ แล้วจับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกเรา
ถือเอาโดยอาการขโมยคุมตัวไว้อย่างแข็งขัน จักประหารชีวิต ตัดศีรษะของพวกมันเสีย’
พวกเขาจึงให้ช่างทำศัสตราคม แล้วจึงเริ่มทำการปล้นบ้าน นิคม พระนคร ปล้นตาม
ถนนหนทาง จับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกตนถือเอาโดยอาการขโมย คุมตัวอย่างแข็งขัน
ประหารชีวิต ตัดศีรษะของบุคคลเหล่านั้นเสีย
[94] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์
ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความ
ขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตรา
ก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์)ก็แพร่หลาย เมื่อ
ปาณาติบาตแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง
เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย
80,000 ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ 40,000 ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 40,000 ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้
โดยอาการขโมย พวกเขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่กษัตราธิราช
ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษนี้
ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบทูลอย่างนี้แล้ว
ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้
โดยอาการขโมย จริงหรือ’ บุรุษนั้นได้กราบทูลคำเท็จทั้งที่รู้อยู่ว่า ‘ไม่จริงเลย
พระเจ้าข้า’
[95] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์
ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความ
ขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตรา
ก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาต
แพร่หลาย มุสาวาท(การพูดเท็จ)ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย คนเหล่านั้น
ก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย 40,000 ปี ก็มีอายุขัยถอยลง
เหลือ 20,000 ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :70 }